วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

กรรมวิธีการผลิตโอ่งมังกร


ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียง ทำให้ จ.ราชบุรีเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ โอ่งมังกร กล่าวกันว่าเป็นโอ่งที่มีคุณภาพดี และมีลวดลายที่สวยงาม ส่วนใหญ่เป็นลายมังกร จึงมีชื่อเรียกทั่วไปว่า โอ่งมังกร หรือโอ่งราชบุรี ใน จ.ราชบุรี มีโรงผลิตโอ่งมังกรมากกว่า 42 แห่ง ซึ่งถืองว่ามากที่สุดในประเทศไทย มีปริมาณมากเพียงพอที่จะจำหน่ายภายในประเทศ และส่งไปจำหน่ายต่างประเทศอีกด้วย

ความเป็นมาของการทำโอ่งมังกรนั้น เริ่มจากช่างจีนซึ่งมีความชำนาญในการทำเครื่องเคลือบชื่อ นายจือเหม็ง แซ่อึ้ง ได้รวบรวมเงินทุนกับพรรคพวกตั้งโรงงาน "เถ้าเซ่งหลี" ขึ้นในปี พ.ศ.2476 เป็นโรงงานขนาดเล็ก ในระยะแรกโรงงานนี้ผลิตเฉพาะภาชนะสำหรับใส่เครื่องดองเค็ม ประเภทไหกระปุกและโอ่งบ้างเล็กน้อย ต่อมากิจการรุ่งเรือง ความต้องการของตลาดมากขึ้น โรงงานจึงได้ขยายกิจการและผลิตโอ่งเพิ่มมากขึ้น หุ้นส่วนหลายคนได้แยกตัวไปเปิดโรงงานของตนเองทั่วจังหวัดราชบุรี และกระจายไปเกือบทุกภาคของประเทศ
กรรมวิธีการผลิตโอ่งมังกรมี 5 ขั้น คือ
1. การเตรียมดิน เนื้อดินสีน้ำตาลแดงที่ได้จากท้องนาทั่วไปใน จ.ราชบุรี เป็นดินเหนียวที่มีคุณภาพดี มีความละเอียดเหนียว เกาะตัวกันดี นำมาหมักไว้ในบ่อหมักดิน แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นตักดินนำมากองไว้อล้วตัดดินเป็นก้อน นำเข้าเครื่องโม่ หรือเครื่องนวดเพื่อให้เนื้อดินเข้ากัน แล้วใช้เหล็กลวดตัดดินที่โม่แล้วให้เป็นก้อนมีขนาดพอเหมาะแก่การปั้นงานแต่ละชิ้น นำมานวดโดยผสมทรายละเอียดเล็กน้อยเพื่อที่จะทำให้โอ่งมังกรมีเนื้อที่แกร่งและคงทนยิ่งขึ้น
2. การขึ้นรูปหรือการปั้น การปั้นโอ่งแต่ละใบนั้นสามารถแบ่งขั้นตอนการขึ้นรูปออกเป็น 3 ส่วน คือ
2.1 ส่วนขาหรือส่วนก้น โดยการนำดินเส้นที่ผ่านการนวดแล้ว มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร การปั้นโอ่งขนาดใหญ่นั้น จะต้องปั้นบนแป้น ก่อนที่จะนำดินเส้นมาวางบนแผ่นไม้ ต้องใช้ขี้เถ้าโรยเสียก่อนเพื่อกันไม่ให้เนื้อดินติดกับแผ่นไม้ เนื้อดินที่นำมาขึ้นรูปเป็นส่วนก้นนั้นเรียกว่า "ตัวกิ๊ว" มีลักษณะเป็นก้อนกลมหรือก้อนสี่เหลี่ยมแผ่ออกเป็นวงกลม จากนั้นนำดินเส้นมาวางต่อๆ กันเป็นชั้นๆ เรียกว่า "การต่อเส้น" ขนาดมาตรฐาของโอ่งนั้น โอ่งขนาด 7 ปี๊บจะใช้ดินเส้นต่อเป็นส่วนขาจำนวน 8 เส้น หรือต่อเข้าด้วยกันทั้งหมด 4 ขั้น เมื่อปั้นตัวโอ่งและยกลงแล้ว ตบแต่งผิวทั้งด้านนอกและด้านใน โดยการขูดดินที่ไม่เสมอกันออกให้เรียบ แล้วใช้น้ำลูบเพื่อให้ผิวเนียนอีกทีหนึ่ง
2.2 ส่วนลำตัวเรียกว่า "จ๊อ" นำส่วนขาหรือส่วนก้นที่แห้งพอหมาดมาวางบนแป้นยิ ซึ่งจะมีขนาดเตี้ยกว่าแป้นสำหรับทำส่วนขา ตบแต่งผิวอีกครั้งด้วยฮุยหลุบและไม้ตี นำดินประมาณ 10 เส้น หรือต่อกัน 5 ขั้น วัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางให้ได้ตามต้องการ ใช้ไม้ต๊าขูดดิน และตบแต่งผิวให้เรียบ ทิ้งไว้พอหมาด โดยปกติการปั้นโอ่งส่วนลำตัวจะเป็นขั้นตอนที่ใช้ดินเส้นมากกว่าส่วนอื่น รองลงมาคือส่วนปากตามลำดับ
2.3 ส่วนปากเรียกว่า "ตุ๊น" ลักษณะการต่อเส้นคล้ายกับสองส่วนแรก แป้นยิมีขนาดเตี้ยลงไปอีก ก่อนที่จะต่อเส้นจะต้องตบแต่งผิวส่วนจ๊อ และส่วนขาด้วยไม้ต๊าเสียก่อน ใช้ดินเส้นประมาณ 3 ขั้น หรือ 5 เส้น วัดความสูงได้ประมาณ 70 เซนติเมตร สำหรับโอ่งขนาด 7 ปี๊บ ใช้ฟองน้ำลูบผิวให้เรียบ จากนั้นใช้ผ้าด้ายดิบชุบน้ำลูบส่วนบน พร้อมกับบีบหรือกดให้ขึ้นเป็นรูปขอบปากโอ่ง ใช้ไม้ต๊าตบแต่งให้เรียบเสมอกันอีกครั้งหนึ่ง สำหรับส่วนปากซึ่งทำไว้จำนวนมากนั้น ถ้าทิ้งไว้นานก่อนถึงขั้นตอนการเขียนลาย จะทำให้แห้งเกินไป จึงต้องให้อยู่ในสภาพเปียกพอหมาดๆ อยู่เสมอโดยใช้พลาสติกคลุใว้โดยรอบ
3. การเขียนลาย ต้องทำการแต่งผิวให้เรียบเสียก่อนด้วยฮุยหลุบและไม้ตี โอ่งที่แต่งเรียบร้อยดีแล้วนั้น ต้องนำมาเขียนลายทันที เพราะถ้าทิ้งไว้เนื้อดินจะแห้งทำให้เขียนลายไม่ได้ สำหรับแป้นที่ช่างใช้เขียนลายนั้นเป็นแป้นไม้หมุน ขณะเขียนลายลงบนตัวโอ่งจะใช้เท้าถีบที่แกน หมุนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเขียนเสร็จ วัสดุที่ใช้เขียนลายนั้น เป็นดินเนื้อละเอียดผสมกับดินขาว เรียกว่า "ดินติดดอก" มีสีนวล ดินขาวนั้นได้มาจาก จ.จันทบุรี หรือสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีคุณภาพดี เหมาะสำหรับนำมาทำเป็นดินติดดอก ช่างเขียนลายใช้ดินสีนวลนี้ ปาดด้วยมือเป็นเส้นเล็กๆ รอบตัวโอ่ง แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงปากโอ่ง ลำตัว และส่วนเชิงล่างของโอ่ง ในแต่ละส่วนจะมีลวดลายไม่เหมือนกัน

-ช่วงปากโอ่ง นิยมเป็นลายดอกไม้หรือลายเครือเถา ใช้วิธีที่เรียกว่าพิมพ์ลาย นำกระดาษฉลุลายวางทาบบนโอ่งแล้วปาดด้วยดินติดดอก โอ่งใบหนึ่งๆ มีประมาณ 4 ช่วงตัวแบบ
-ช่วงลำตัว นิยมเขียนลายเป็นรูปมังกร มีทั้งมังกรดั้นเมฆ มังครคาบแก้ว และมังกรสองตัวเกี่ยวพันกัน เป็นต้น ช่างเขียนลายมังกรนี้ จะเป็นผู้มีความชำนาญมาก ปาดเนื้อดินด้วยหัวแม่มือเป็นรูปมังกรคร่าวๆ โดยไม่ต้องมีแบบร่าง จากนั้นใช้ปลายหวีขีดเป็นหัวมังกร ใช้หวีตกแต่งเป็นส่วนหนวด นิ้ว และเล็บ สำหรับเกล็ดมังกร ใช้สังกะสีที่ตัดปลายหยักไปมา ทาบบนตัวมังกร และเน้นส่วนลูกตาของมังกรให้มีความนูนเด่นออกมา
-ส่วนเชิงล่างของโอ่ง ใช้วิธีการติดลายคล้ายกับส่วนปาก จากนั้นใช้น้ำลูบที่ลายทั้งหมด เพื่อให้ลายมีผิวที่เรียบเสมอกันและลื่น เป็นการเตรียมสู่ขั้นตอนการเคลือบและเผาต่อไป โอ่งแต่ละใบช่างผู้ชำนาญใช้เวลาเขียนสีประมาณ 10 นาที
4. การเคลือบ นำมันที่ใช้ในการเคลือบเป็นส่วนผสมของขี้เถ้าและน้ำโคลนหรือเลน และสีเล็กน้อย ซึ่งเป็นสีที่ได้จากออกไซด์ของเหล็ก ส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาลเข้ม การเคลือบจะนำโอ่งไปวางหงายในกระทะขนาดใหญ่ ใช้น้ำยาเคลือบราดให้ทั่วทั้งด้านในและด้านนอก แล้วจึงนำไปวางผึ่งลมไว้ โอ่งที่เคลือบน้ำยานั้น นอกจากจะทำให้สีสวยเป็นมันเมื่อเผาแล้วยังช่วยในการสมานรอยต่างๆ ในเนื้อดินให้เข้ากัน เมื่อนำไปใส่นำจะไม่ทำให้น้ำซึมออกมาข้างนอกด้วย
5. เตาเผาโอ่งมังกร เรียกว่า "เตาจีนหรือเตามังกร" ก่อด้วยอิฐทนไฟเป็นรูปยาว ด้านหัวเตาเจาะเป็นช่องประตูสำหรับลำเลียงโอ่งและภาชนะดินเผาอื่นๆ ด้านบนของเตา ทั้งสองข้างเจาะรูไว้เป็นระยะๆ เรียกว่า "ตา" เพื่อใช้ใส่เชื้อเพลิง ลักษณะของเตามังกรนี้ ด้านหนึ่งอยู่ระดับเดียวกับพื้นดินใช้เป็นหัวเตาสำหรับก่อไฟ อีกด้านสูงกว่า เพราะต้องการทำให้ตัวเตามีลักษณะเอียงลาดเป็นส่วนของก้นเตา ใช้เป็นปล่องระบายควัน ก่อนการลำเลียงโอ่งเข้าเตาเผา ต้องเกลี่ยพื้นเตาให้เรียบเสมอกันเสียก่อน แล้วจึงจัดวางโอ่งให้เป็นระเบียบ การวางโอ่งซ้อนๆ กันจะมีแผ่นเคลือบเรียกว่า "กวยจักร" เป็นตัวรองไว้ เมื่อลำเลียงโอ่งเข้าทางประตูเตาแล้ว ก่อนเผาต้องใช้อิฐปิดทางไว้ให้มิดชิด เพื่อกันมิให้ความร้อนระบายออกมาได้ เตาขนาดใหญ่สามารถบรรจุโอ่งได้คราวละ 300-500 ใบ
การจุดไฟต้องเริ่มที่หัวเตาก่อน เมื่อติดแล้วทยอยใส่ฟืนลงที่ช่องเตาทั้งสองข้าง ความร้อนในเตาต้องมีอุณหภูมิถึง 12,000 องศาเซลเซียส การที่จะดูว่าโอ่งนั้นเผาสุกได้ที่แล้วหรือยัง ต้องดูตามช่องใส่ฟืนและต้องดูจากช่องต่ำสุดก่อน หากยังไม่สุกดีก็เติมไฟลงไปอีก ถ้าสุกดีแล้วใช้อิฐปิดช่องนั้นและดูช่องถัดไปตามลำดับโดยวิธีเดียวกัน จนกว่าจะสุกทั่วทั้งเตา จึงเลิกใส่ฟืน แล้วปล่อยให้ไฟดับเอง ทิ้งไว้ประมาณ 10-12 ชั่วโมง ความร้อนในเตาจะต่อยๆ ลดลงสามารถเปิดช่องประตูเตานำโอ่งออกมาได้
ในวันหนึ่งๆ มีโอ่งมังกรถูกลำเลียงไปขายยังท้องตลาดทั่วประเทศ และในปัจจุบันตลาดยุโรปและอเมริกาให้ความสนใจมาก แต่นิยมที่ไม่เคลือบมากกว่าเพื่อนำไปเป็นเครื่องประดับตกแต่งตามสวนและระเบียง เป็นการนำมาซึ่งรายได้ให้แก่ประเทศปีละหลายสิบล้านบาท

ที่มาข้อมูล : มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 220-223)
ที่มาของภาพ
-
http://www.jiraphantrading.com/images/big/bigIMG_1786.jpg
-
http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/865/865/images/dragon-jar/jar1.jpg
-
http://mns.mcru.ac.th/student/website301/images/jar8.jpg
-
http://www.moohin.com/trips/ratchaburi/waterjar/300/8.jpg
-
http://culture.mcru.ac.th/image/23/093.gif
-
http://2.bp.blogspot.com/_pYgJJVJ6Plc/SpaZJfXM9uI/AAAAAAAAABc/CKa6ONO1DPw/S660/G4698857-055555.jpg
อ่านต่อ >>