วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หลักสูตรการฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 4 ราชบุรี

ภาพจำลอง
ที่มา http://www.moph.go.th/
ผู้เขียนได้ไปอ่านพบ "หลักสูตรการฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน"  ของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 4 ราชบุรี ซึ่งเขียนไว้ใน คู่มือการปฏิบัติงานอาสาสมัครแรงงานจังหวัดราชบุรี ปี พ.ศ.2554 ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานแรงงานจังหวัดราชบุรี  เห็นว่าเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจ มีอยู่เป็นจำนวนมาก บางหลักสูตรผู้เขียนเอง ก็พึ่งทราบว่ามีการสอนด้วย ลองอ่านดูนะครับ อาจจะช่วยสะท้อนความคิดและมุมมองอะไรใหม่ๆ ที่อาจนำไปประยุกต์ เพิ่มเติมหรือแก้ไขปรับปรุงได้  หรือท่านใดสนใจ สามารถสมัครเข้าเรียนหรือฝึกได้โดยตรง จบแล้วอาจจะนำมาเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมอีกทางหนึ่งก็ได้

หลักสูตรการฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน

สำหรับผู้ประสบภัยธรรมชาติ ผู้ตกงาน/ว่างงาน (รุ่นละ 16 คน ระยะเวลาฝึกแล้วแต่สาขาอาชีพ) จำนวน 33 สาขาอาชีพ ดังนี้
  1. การทอผ้าลายขิต/การทอผ้ายกดอก
  2. การทอผ้าลายเกล็ดเต่า
  3. การทอผ้ากี่กระตุก
  4. การทำน้ำยาเอนกประสงค์
  5. ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้า/การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากผ้า/การประดิษฐรองเท้ารูปสัตว์จากผ้าพื้นเมือง
  6. การทำกรอบรูปวิทยาศาสตร์
  7. การทำซิลค์สกรีน/การเพ้นผ้า
  8. ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม/การเย็บผ้าห่มเศรษฐกิจ
  9. การทำผ้าบาติก
  10. ช่างกัดลายกระจก
  11. ช่างทำไม้กวาด
  12. ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี
  13. การใช้ไมโครซอฟท์ออฟฟิต
  14. การทำขนมอบเบเกอรี่
  15. การประกอบอาหารว่าง
  16. การประกอบอาหารไทย
  17. การทำขนมไทย
  18. การทำปาท่องโก๋
  19. การทำน้ำเต้าหู้
  20. การทำขนมอบ
  21. การนวดแผนไทย
  22. การนวดฝ่าเท้า
  23. ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์/การซ่อมบำรุงรถจักยานยนต์
  24. ช่างเครื่องยนต์เพื่อการเกษตร
  25. ช่างเดินสายไฟฟ้าในอาคารและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน
  26. ช่างติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน
  27. ช่างพันมอเตอร์/ช่างพันมอเตอร์กระแสสลับ
  28. ช่างเดินสายไฟฟ้าในอาคาร/ช่างไฟฟ้า
  29. ช่างเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ/การซ่อมตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ
  30. ช่างซ่อมวิทยุโทรทัศน์/ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน/ช่างประกอบอิเลคโทรนิกส์
  31. ช่างเชื่อมเหล็กรูปพรรณ/ช่างเชื่อมไฟฟ้า/ช่างเชื่อมเหล็กดัด/การเชื่อมไฟฟ้าเหล็กหนาไม่เกิน 6 มม./การทำเหล็กดัด
  32. เทคนิคงานปูน ช่างทำโต๊ะเทียม/การทำโต๊ะเก้าอี้ชุดสนาม ไม้เทียม/การทำชุดรับแขกด้วยปูนซีเมนต์
  33. ช่างไม้เครื่องเรือน/ช่างทำเฟอร์นิเจอร์/ช่างทำเครื่องเรือน โครงการไม้จริง/ช่างแกะสลักไม้/การทำวงกบไม้
สำหรับผู้ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน/นักเรียน/นักศึกษา/ประชาชนผู้สนใจ (รุ่นละ 16 คน ฝึกในตำบลหรือหมู่บ้าน) ดังนี้
  1. การเดินท่อและติดตั้งสุขภัณฑ์ (60 ชม.)
  2. การบำรุงรักษาระบบประปา (30 ชม.)
  3. การปูกระเบื้อง (60 ชม.)
  4. การทาสีอาคาร (30 ชม.)
  5. การก่ออิฐ-ฉาบปูน (60 ชม.)
  6. การทำมุ้งลวดและเพดานทีบาร์ (30 ชม.)
  7. การทำโต๊ะไม้เทียม (30 ชม.)
  8. การซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร (60 ชม.)
  9. ช่างซ่อมเครื่องทำน้ำอุ่น (30 ชม.)
  10. การซ่อมตู้เย็นและตู้แช่ในครัวเรือน (60 ชม.)
  11. การติดตั้งระบบสัญญาณผ่านดาวเทียม (30 ชม.)
  12. การเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร (60 ชม.)
  13. การซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร (60 ชม.)
สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ (รุ่นละ 20 คน) ดังนี้
  1. การทำสปาหน้า (6 ชม.)
  2. การทำน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ (6 ชม.)
  3. การทำอาหารจานเดียวเพื่อสุขภาพ (6 ชม.)
  4. การทำพวงหรีดจากดอกไม้สด (6 ชม.)
  5. การทำพวงหรีดแบบแห้ง (6 ชม.)
  6. การแปรรูปกล้วย (6 ชม.)
  7. การแปรรูปสับปะรด (6 ชม.)
  8. การทำสบู่จากสมุนไพร (6 ชม.)
  9. การทำเต้าหู้นมสด (6 ชม.)
  10. การทำไอศครีมสมุนไพร (6 ชม.)
  11. การทำส้มตำทอด (6 ชม.)
  12. การทำปาท่องโก๋ (6 ชม.)
  13. การทำซาลาเปา (6 ชม.)
  14. การทำกาแฟสด (6 ชม.)
  15. การทำกาแฟโบราณ (6 ชม.)
  16. การทำโจ๊กฮ่องกง (6 ชม.)
  17. การทำพวงกุญแจเรซิ่น (6 ชม.)
  18. การร้อยลูกปัด (6 ชม.)
  19. การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ (6 ชม.)
  20. การทำคุกกี๊ (12 ชม.)
  21. การทำและแต่งหน้าเค้ก (12 ชม.)
  22. การทำสปามือและเท้า (12 ชม.)
  23. การนวดน้ำมันหอมระเหย (12 ชม.)
  24. การทำดอกไม้จากเทียนหอม (12 ชม.)
  25. การทำขนมไทย (12 ชม.)
  26. การทำลูกประคบ (12 ชม.)
  27. การจัดดอกไม้สด (12 ชม.)
  28. การจัดช่อดอกไม้ (12 ชม.)
  29. การทำดอกไม้จันทน์ (12 ชม.)
  30. การผลิตกระทงจากใบตอง (12 ชม.)
  31. การทำยาหม่องและพิมเสนน้ำ (12 ชม.)
  32. การทำสบู่และยาสีฟันสมุนไพร (12 ชม.)
  33. การทำผลิตภัณฑ์ประดับสวนจากเรซิ่น (12 ชม.)
  34. การทำสลัดผักและผลไม้ (12 ชม.)
  35. การทำน้ำพริกจากผลผลิตทางการเกษตร (15 ชม.)
  36. การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู (18 ชม.)
  37. การทำเทียนแฟนซี (18 ชม.)
  38. การทำกระเบื้องหินทรายประดับสวน (18 ชม.)
  39. การทำน้ำยาสุขภัณฑ์ (18 ชม.)
  40. การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด (18 ชม.)
  41. การแปรรูปผลไม้ (18 ชม.)
  42. การทำไม้กวาดดอกหญ้า (18 ชม.)
  43. การทำตุ๊กตาจากผ้า (18 ชม.)
  44. การทำเบเกอรี่ (30 ชม.)
  45. การทำขนมอบ (30 ชม.)
  46. การทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร (30 ชม.)
  47. การประดิษฐ์ดอกไม้จากผ้าใยบัว (30 ชม.)
  48. การปักจักร (60 ชม.)
  49. การตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี (60 ชม.)
  50. พนักงานนวดแผนไทย (80 ชม.)
ติกต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 4 ราชบุรี โทร.0-3233-7609-12 อีเมลล์ radburi@dsd.go.th

ที่มาข้อมูล
สำนักงานแรงงานจังหวัดราชบุรี. (2553). คู่มือการปฏิบัติงานอาสาสมัครแรงงานจังหวัดราชบุรี ปี พ.ศ.2554 สำหรับอาสาสมัครแรงงาน. ราชบุรี : ประเสริฐการพิมพ์.
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิธีล่าสัตว์ของพรานสมัยมณฑลราชบุรี

บทความนี้ กระผมคัดลอกมาจากหนังสือสมุดราชบุรี ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2468 เกี่ยวกับวิธีล่าสัตว์ของพวกพรานในสมัยที่เป็นมณฑลราชบุรี  โดยภาษาและสำนวน รวมทั้งตัวสะกดต่างๆ ได้พิมพ์ตามต้นฉบับที่เขียน มิได้ดัดแปลงใดๆ  ลองอ่านกันดูนะครับ

วิธีล่าสัตว์ของชาวเมือง

พวกพรานในมณฑลราชบุรี มีวิธีล่าสัตว์เปน ๓ อย่าง คือ

๑ ด้อม_วิธีนี้ คงคล้ายกับในท้องที่อื่นๆ ทั่วไป คือ ไปกันแต่เพียง ๑ หรือ ๒ คน เมื่อรู้ว่าตำบลใดเปนทำเลที่สัตว์ออกหากินก็เที่ยวตรวจหารอยสัตว์เสียก่อน  แล้วก็ติดตามมไปจนพบตัวสัตว์ก็ได้ยิง หรือเมื่อรู้ทำเลที่สัตว์อยู่แน่แล้ว ก็เที่ยวด้อมสกัดแอบยิงเอาโดยเงียบๆ พรานพวกนี้ชำนาญในการสังเกตรอยสัตว์มาก เมื่อพบแล้วสามารถรู้ได้ว่าเปนสัตว์ชนิดใด  รอยใหม่หรือเก่า และไปทางไหน เมื่อไร สามารถติดตามจนพบได้ บางคนมีวิชาเป่าใบไม้ดังเปนเสียงสัตว์ ล่อให้สัตว์หลงได้

๒ นั่งห้างหรือนั่งโป่ง_วิธีนี้ก็คงมีเหมือนกันทั่วๆ ไป คือ ผู้เปนพรานเที่ยวเสาะหาดูว่า ที่ใดมีดินโป่ง คือดินที่เค็มโดยมีเหมือดเกลือ ซึ่งเนื้อกวางพากันมากินเวลากลางคืน นัยว่าเปนยาบำบัดโรคของสัตว์พวกนั้น แล้วก็มีสัตว์คือ เสือ มาคอยดักจับสัตว์พวกนี้กินอีกต่อ ๑ หรือในที่ซึ่งมีน้ำ เปนบ่อน้ำ เปนแอ่งเล็กๆ ตื้นๆ ที่สัตว์ต่างๆ ลงไปกินได้ เมื่อได้พบที่ชนิดนี้แล้ว ก็ตรวจสังเกตว่ามีรอยสัตว์มากินอยู่ใหม่ๆ หรือไม่

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ
http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name
=Forums&file=viewtopic&p=184853
เมื่อมีร่องรอยเปนที่พอใจแล้ว ก็ตรวจดูต้นไม้ จะเปนต้นใหญ่มีค่าคบ หรือต้นเล็กที่เปนพุ่ม หรือกอไผ่ก็ได้ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับดินโป่งหรือแอ่งน้ำนั้น แล้วก็จัดการขัดห้างขึ้นที่ในพุ่มหรือค่าคบไม้ โดยวิธีใช้ไม้ท่อนโตขนาดเท่าข้อมือยาวประมาณ ๓-๔ ศอก พาดก่ายกันบนค่าคบหรือกิ่งไม้ กว้างใหญ่พอนั่งได้โดยไม่จำเป็นต้องผูกมัดอย่างไร หรือถ้าจำเปนต้องผูกมัด เช่นทำห้างที่กอไผ่เช่นนั้นก็จะผูกมัดเพียงไม้คร่าวสัก ๓ อันเท่านั้น ส่วนไม้ที่พาดเปนพื้นสำหรับนั่งไม่จำเปนต้องผูกมัดเลย

ขนาดใหญ่ของห้างหรือร้าน จะนั่งได้เพียง ๓ คนเปนอย่างมาก แต่ตามปรกติพรานแท้เขานั่งห้างละคนเท่านั้น ส่วนสูงพอมือเอื้อมถึงเมื่อยืนอยู่กับพื้นดิน หรือแม้จะสูงกว่านี้อีกก็ไม่มาก เปนอันว่าอยู่ในส่วนที่สัตว์ชนิดดุ เช่น เสือ หมู และวัว กระโดดได้ถึง แต่พวกพรานย่อมมีใจถือมั่นกันว่า จะไม่มีสัตว์ร้ายกระทำอันตรายเช่นนั้นเลย เพราะการผูกห้างก็ดี หรือขณะเมื่อจะขึ้นนั่งห้างก็ดี เขาได้ทำอาถันพ์และมีคาถากำกับเสียก่อนแล้วโดยตลอด

ทั้งวิธีนั่งห้างนี้ นับเปนวิธีพิถีพิถันมาก  ในการยิงสัตว์ดูเปนการยากและน่ากลัวอันตรายกว่าวิธีอื่นๆ เหตุที่ไม่ทำห้างเสียให้สูงพ้นอันตรายก็เพราะว่า จำเปนต้องดูระยะทางระหว่างที่นั่งกับที่ทางสัตว์จะมาให้ได้สัดส่วนกันพอยิงถนัดและสดวก ดังนี้จึงจะทำห้างตามชอบใจไม่ได้ และเมื่อลงได้ยิงแล้วก็ต้องหมายว่าอยู่ทีเดียว

เวลานั่งห้าง ต้องเปนเวลากลางคืน พรานต้องเข้านั่งที่ก่อนพลบค่ำ เพราะหมูป่าจะมาในตอนหัวค่ำ และกวางมาในระหว่าง ๑๐-๑๑ ล.ท. หรือมีมา ในตอนเช้ามืดอีกคราว ๑ การนั่งห้างจึงควรกะเวลาในวันที่มีเดือนขึ้นพอเหมาะกับเวลาที่สัตว์จะมา เพราะมิฉนั้นจะไม่แลเห็นสัตว์เลย วิธีที่ให้เห็นสูนย์ปืนเพื่อเล็งได้ถนัด เขาใช้ขี้ผึ้งติดที่สูนย์สักเล็กน้อย แล้วเอาสำลีปิดทับขึ้ผึ้งก็จะเกิดสีขาวพอเห็นได้ถนัดขึ้น

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ
http://pakchong.nmpp.go.th/web/news_read.php?id=85
เมื่อได้ขึ้นนั่งห้างแล้ว ก็ใช้กิ่งไม้สะให้รอบห้าง เพื่อไม่ให้สัตว์แลเห็นห้างและคน ให้คงเห็นเปนต้นไม้ธรรมดา แล้วต้องนั่งนิ่งสงบกิริยาและสุ่มเสียงให้เงียบสงัด จะพูดจากัน จะทำเสียงจามไอ จะสูบบุหรี่ ขีดไม้ขีดไฟ หรือกระทำอย่างใดๆ ที่เกิดเสียงเกิดแสงไม่ได้เปนอันขาด นับว่าการนั่งห้างต้องมีความกล้าและใช้ความอดทนมาก และในป่าเช่นนั้นย่อมมียุงและสัตว์แมลงรบกวนมากมายแต่ต้องทำใจสงบ อดทนเอา

มีที่สังเกตของพวกพรานว่า สัตว์ที่จะเข้ามายังดินโป่งหรือแอ่งน้ำนั้น มิได้ตรงเข้ามาทีเดียว ย่อมมีความระแวงภัยตัวอยู่เหมือนกัน จึงค่อยๆ เดินเข้ามา และหยุดฟังเสียงสูดกลิ่นไอ แลมองตรวจบริเวณตามทางเสียก่อน เมื่อแน่ใจว่าไม่มีภัยแล้วจึงจะเข้ามา  ทั้งนี้มิใช่ว่าสัตว์นั้นจะนึกถึงและเกรงแต่ฉะเพาะพวกพรานที่จะยิงเท่านั้น หามิได้ แต่ย่อมเกรงภัยที่จะได้รับจากสัตว์ใหญ่นั้นเปนส่วนมาก กับอีกอย่าง ๑ พรานผู้นั่งห้างมีที่สังเกตว่า เมื่อเวลามีสัตว์ใหญ่เข้ามา สัตว์เล็กๆ เช่น กบ เขียด ตลอดจนจักระจั่นเรไรซึ่งกำลงัส่งเสียงร้องสนั่นอยู่ ณ ที่ใกล้ๆ นั้น จะสงบเสียงหยุดลงทันที เพราะเปนธรรมชาติของสัตว์จำพวกนั้นซึ่งมีสำเหนียกดียิ่ง เมื่อได้มีเสียงแกรกกรากขึ้น แม้แต่เล็กน้อยก็อาจได้ยินและสงบเสียงของตนลง

ลัทธิของพวกพรานนั่งห้างมีอยู่อีกว่า  ในเวลาที่นั่งห้างอยู่นั้น แม้ใครจะมาร้องเรียกหาก็จะไม่ขานรับเลย ที่สุดถึงจะเห็นตัวคนที่เปนคนรู้จัก ก็จะไม่ลงจากห้างไปเปนอันขาด ทั้งนี้โดยถือกันว่า โป่งบางแห่งมีจำนวนสัตว์ตายมาก ทั้งที่ทำลายกันเองและทั้งที่ถูกพรานยิง จึงเกิดเปนปีศาจมาหลอกหลอนได้อย่าง ๑ อีกอย่าง ๑ เพราะพวกพรานนั้นกลัวเสือ ซึ่งกล่าวกันว่าเสือบางตัวที่เคยกินคน หรือกินสัตว์ใหญ่มากๆ แล้ว ก็เกิดมีปีศาจเข้าสิง อาจหรอกหลอนพรานให้เห็นไปต่างๆ  เมื่อพรานหลงความลวงเช้นเห็นเปนคนมาและลงไปหา ก็จะถูกเสือกินทันที  ดังนี้พวกพรานจึงมีอาณัติว่า เมื่อพบปะกันจะต้องจุดไม้ขีดไฟขึ้นเปนสัญญา จึงจะเปนที่เชื่อได้ว่าเปนมนุษย์พวกเดียวกันจริง (เขากล่าวว่าปีศาจจุดไฟไม่ได้)

การนั่งห้างมักนั่งจนตลอดคืน  รุ่งสว่างแล้วจึงกลับบ้าน ถ้าไปคนเดียวนั่งแต่ห้างเดียว  แม้ยิงสัตว์ได้ในตอนกลางคืนก็มักจะรออยู่จนรุ่งสว่างจึงกลับ เว้นแต่ไปนั่งกันหลายห้าง และมีอาณัติสัญญาเรียกกันเมื่อยิงสัตว์ได้ก็ให้สัญญามารวมกันได้  การนั่งห้างยิงสัตว์จะเปนความลำบากอยู่มากก็จริง  แต่นับว่าเปนคุณความดีอยู่ที่ได้หัดทำใจและสติอารมณ์ให้เปนคนมีความหนักแน่นมั่นคง

๓ ไร่ราวหรือนั่งราว_วิธีนี้ต้องใช้คนมาก จึงไม่ใคร่ทำกันทั่วไป เพราะจะหาจำนวนพรานและลูกไล่ที่เข้าใจได้ไม่เพียงพอ โดยถ้าพลาดพลั้งอาจจะเปนอันตรายเกิดยิงถูกกันเข้าได้ง่าย ดังมีเรื่องปรากฏอยู่บ่อยๆ วิธีนั้น คือ พรานต้องตรวจทราบเสียก่อนว่า ที่ใดเปนที่อยู่ของสัตว์หรือเป็นแดนที่สัตว์เที่ยวหากิน ทั้งจะต้องรู้จักแผนที่ ๆ ตำบลนั้นดีด้วย 

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ
http://www.rd1677.com/branch.php?id=26149
เมื่อได้ที่เช่นนี้แล้ว ก็แบ่งคนออกเปน ๒ พวก พวก ๑ เป็นฝ่ายยิง อีกพวก ๑ เป็นฝ่ายไล่ ทำความตกลงให้รู้ทั่วกันว่า พวกยิงจะอยู่ตรงใด แค่ไหนถึงไหน และให้พวกไล่ๆ มาทางไหน แล้วฝ่ายยิงก็ไปนั่งตามที่ซึ่งกำหนด รายกันมีระยะห่างพอสมควรที่สัตว์วิ่งผ่านมาจะต้องเห็นได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่โดยมากมักแลไม่เห็นตัวกัน เพราะป่าบัง ตำบลที่นั่งมักเลือกในที่ซึ่งปีกทั้งสองมีที่บังคับ เพื่อกันสัตว์ไม่ให้แตกหลีกทางไป เช่นให้ปีกยันเขา ยันเนิน หรือตกห้วย ตกทุ่ง ดังนี้เปนดี ส่วนกว้างด้านน่านั้น สุดแล้วแต่พวกยิงจะมีจำนวนคนมากแลน้อย

เมื่อได้เวลา ประมาณว่าฝ่ายยิงได้เข้าที่นั่งตลอดแนวแล้ว พวกไล่ซึ่งได้ขยายแถวเปนแนวเต็มเนื้อที่อย่างฝ่ายพวกยิงเหมือนกันนั้น ก็ออกเดินรุกไล่เปนน่ากระดานเข้ามาหาฝ่ายยิง ดังนี้ เปนวิธี ๑ หรือพวกไล่จะไล่ผ่านหน้าพวกยิงมาก็ได้ แต่ต้องเป็นในที่ซึ่งภูมิประเทศให้ด้วย มิฉนั้นสัตว์จะไม่ผ่านมาทางผู้ยิง ฝ่ายพวกไล่ต้องใช้หลอดไม้รวกหรือหลอดอย่างใดๆ ก็ได้เป่าให้มีเสียงดัง บ้างก็ใช้ปากร้องไล่เข้าไป โดยไม่ขาดเสียง และไว้ระยะถี่ห่างให้พอเห็นตลอดถึงกัน เพื่อไม่ให้สัตว์แหกออกไปได้ ทั้งพวกไล่บ้างคนต้องมีปืนสำหรับคอยยิงสัตว์ที่จะกลับหกหลังมา สัตว์บางชนิด เช่น กวาง มีความฉลาดมาก เมื่อได้ยินเสียงร้องไล่ ก็จะเข้าแอบตามพุ่มไม้ หรือที่รกยืนนิ่งอยู่  พอพวกไล่ผ่านเลยไปแล้วก็ออกวิ่งหนี

ฉนั้นในที่รกมาก พวกไล่จะต้องมีไม้หลาวเที่ยวทิ่มแทงตามพุ่มตามรกและทำเสียงให้เอิ่กเกริ่กยิ่งขึ้น ฝ่ายผู้ยิงก็จะต้องนั่งคอยอยู่โดยสงบ และคอยยิงเมื่อสัตว์ผ่านมา แต่จะต้องระวังที่สุดที่จะไม่ให้ถูกพวกไล่ หรือยิงไปทางซ้ายขวาซึ่งมีพวกยิงอื่นๆ นั่งอยู่ และพวกที่นั่งยิงก็จะต้องไม่ลุกจากไปจากที่ เพราะเมื่อไปผิดที่เช่นนั้นแล้วอาจถูกยิงได้โดยง่าย โดยมากที่เกิดยิงถูกกันเองก็เพราะผู้ยิงยังไม่ชำนาญและไม่มีใจมั่นคงพอหรืองกเงิ่นเกินไป ฉนั้นจึงต้องตกลงกันอย่างเดียวว่า เพียงได้ยินเสียงแกรกกรากผ่านไปเห็นแต่ไวๆ แล้ว ห้ามมิให้ยิงเปนอันขาด ต่อเมื่อได้เห็นถนัดแน่และไม่มีคนแล้วจึงให้ยิง

การไล่ตำบล ๑ หรือครั้ง ๑ เช่นนี้ ภาษาพรานเรียกกันว่า "ตั้ง ๑" และในวัน ๑ ๆ ถ้าตำบลที่ไล่ใหญ่โตก็จะไล่ได้อย่างมากเพียง ๓ ตั้งเท่านั้น เพราะตั้ง ๑ ต้องเสียเวลาถึงราว ๒ ชั่วโมง การที่จะล่าสัตว์ตามวิธีนี้ ต้องมีคนสัก ๓๐ จึงจะพอดี คือ เปนฝ่ายยิงสัก ๑๐-๑๒ คน นอกนั้นเปนฝ่ายไล่ หรือจะน้อยกว่านี้ก็ใช้ได้ แต่ต้องเปนภูมิประเทศที่ไม่ใหญ่โต ถ้าคนยิ่งมากก็ยิ่งสนุก แต่ต้องระวังกันมากขึ้น

ในมณฑลราชบุรี เว้นจังหวัดสมุทสงคราม มีพร้อมทั้งสัตว์และอยู่ในทำเลที่เหมาะสมสดวกหลายแห่งหลายตำบล และพร้อมทั้งพวกพรานลูกไล่ และผู้นำทางซึ่งอาจจะทำให้นักล่าสัตว์ทั้งหลายได้รับความสดวก, ความบรรเทิงใจในการที่จะล่าสัตว์ในท้องที่นี้ได้เปนอย่างมาก"

ที่มา
มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.

อ่านเพิ่มเติม :  สัตว์ป่าในท้องที่มณฑลราชบุรี พ.ศ.2468
อ่านต่อ >>